แนวทางป้องกันการเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
บทความนี้มีแนวทางการดำเนินการศึกษาอยู่บนโจทย์ที่ว่า “บทบัญญัติของกฎหมายต่างๆ
ที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นอุปสรรคอย่างไรต่อประชาชนที่จะเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
และจะมีข้อเสนอแนะเพื่อทำการแก้ไขอุปสรรในทางกฎหมายเหล่านั้นอย่างไร” จากโจทย์ดังกล่าวจึงมีประเด็นหลักที่ได้ทำการศึกษาวิจัยจนได้ผลลัพธ์ออกมา
2 ประเด็นด้วยกัน คือ
1. แนวคิดและหลักกฎหมายที่ใช้ศึกษาปัญหาอุตสาหกรรม
มีดังต่อไปนี้
1) หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2) หลักการกฎหมายสิ่งแวดล้อม
3) แนวคิดหน้าที่ของรัฐ
4) แนวคิดการพัฒนาระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อม
2. ลู่ทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาจากอุตสาหกรรม
การปรับโครงสร้างองค์กรในพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม
บูรณาการอำนาจหน้าที่องค์กรแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ทำงานได้เบ็ดเสร็จ ส่งเสริมประชาชนให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ
(โดยเฉพาะเขตนิคมอุตสาหกรรม) ปรับระบบการฟ้องร้องคดีในชั้นศาลเพื่อการพิสูจน์ความผิดและความเสียหาย นำระบบฟ้องคดีแบบกลุ่มมาใช้ (Class
Action) ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์จัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม การปรับระบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การจัดระบบระงับข้อพิพาทในพื้นที่พิเศษ
(นิคมอุตสาหกรรม) สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาแบบมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาชน
แนวคิดและหลักกฎหมายที่ใช้ศึกษาปัญหาอุตสาหกรรม
แนวคิดและหลักกฎหมายที่ใช้ศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหา มีดังต่อไปนี้
1.หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับประเทศไทยในระยะที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.
2540 การบริหารงานภาครัฐนั้นมีลักษณะเป็นระบบปิด (closed system) ไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการมากนัก ทั้งในส่วนของการกำหนดนโยบายและการใช้อำนาจทางปกครองทั้งหลายรวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากร
ปัญหาที่เกิดขึ้นในการจัดการบริหารงานโดยภาครัฐทำให้ถูกตั้งคำถามถึง
การทุจริตและการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนต่าง ๆ
ในการพัฒนาและปฏิรูประบบราชการในช่วงรัฐบาลที่มีนาย อานันท์ ปันยารชุน
เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4
เมษายน พ.ศ. 2534 ได้เน้นถึงการบริหารราชการบนหลักการสองข้อ คือ ต้องมีความโปร่งใส
(transparency) และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน (public
participation) การบริหารงานภาครัฐภายใต้หลักการสองข้อนำไปสู่การกล่าวถึงอีกหลักการหนึ่งที่เรียกกันว่าหลักธรรมาภิบาล
(Good Governance) โดยเฉพาะที่เรียกว่า ธรรมาภิบาลเชิงกระบวนการที่ให้ประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม
ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมใน 5 ระดับ คือ[i]
1. การร่วมรับรู้
2. การร่วมให้ข้อมูล-ความเห็น
3. การร่วมตัดสินใจ
4. การร่วมกระทำการ
5.
การร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยอมรับกันในระดับสากลและหลักการมีส่วนร่วมตามหลักการธรรมภิบาลได้ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญฯ
พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 รวมทั้งกฎหมายระดับพระราชบัญญัติต่าง ๆ
โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 ได้ยอมรับหลักการนี้ในมาตรา 58
ซึ่งบัญญัติว่า
“บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลข่าวสารหรือข่าวสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ
หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน
หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
และในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ได้ยอมรับหลักการนี้ในมาตรา 56
ซึ่งบัญญัติว่า
“บุคคลย่อมมีสิทธิได้ทราบและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ
หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
ความปลอดภัยของประชาชนหรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น
ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
กฎหมายที่รับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ฯ กำหนด คือ
พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้มีวัตถุประสงค์
3 ประการ ดังนี้[ii]
1.ให้ประชาชนมีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการมากขึ้น
2.ให้ประชาชนสามารถปกปักรักษาประโยชน์ของตนได้ดีขึ้น
3. ให้ความคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล
นอกจากนั้นพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540
ยังกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ
โดยมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการไว้ 2
ประการใหญ่ ๆ คือ[iii]
หลักที่ว่าผู้ขอไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือประโยชน์เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารที่ขอ
และหลักที่ว่า “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”
นอกจากนั้น การร้องขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานรัฐ
สามารถอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ฯ
ที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิจารณารับอุทธรณ์ว่าจะให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือไม่ในลักษณะองค์กรกึ่งตุลาการที่ทำหน้าที่ชี้ขาดซึ่งจะทำให้การคุ้มครองสิทธิการขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สิทธิในการได้รับข้อมูล
คำชี้แจงและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รัฐธรรมนูญ
พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน เช่นกัน
ในมาตรา 67 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้
“สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์
บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ
และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย
สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับการคุ้มครองตามความเหมาะสม
การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้
เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน
และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน
รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ
ให้ความเห็นของประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว” ปัจจุบันรัฐได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
พ.ศ. 2548 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติ และเป็นวิธีการตามกฎหมายเพียงฉบับเดียวที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
แม้ว่ารัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.
2550จะได้รับรองสิทธิของประชาชนไว้ แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายรับรองโดยตรง
เมื่อพิจารณาถึงลำดับชั้นของกฎหมายก็เป็นที่น่าสังเกตว่า สิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองนั้นต้องตราเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเป็นหลัก
แต่การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้นอยู่ในชั้นของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
การกำหนดเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงระเบียบปฏิบัติของฝ่ายบริหารที่ใช้บังคับกับส่วนราชการฝ่ายบริหารให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันเท่านั้น
ไม่มีลักษณะเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไปและต้องปฏิบัติตามโดยตรง
สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เมื่อเกิดการจัดการของภาครัฐที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่ายนั้นจะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติ
ต่าง ๆ ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติถึงการให้สิทธิประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไว้ในมาตรา 67 วรรคสาม ดังนี้
ต่าง ๆ ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติถึงการให้สิทธิประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไว้ในมาตรา 67 วรรคสาม ดังนี้
“สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ
รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล
เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับการคุ้มครอง”สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม คือ
การให้สิทธิประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในการปฏิบัติราชการทางปกครอง
มีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ภายในฝ่ายปกครอง
และสามารถดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้มีการทบทวนการใช้อำนาจในทางปกครองของเจ้าหน้าที่
รวมถึงการชดใช้เยียวยาความเสียหาย การดำเนินกระบวนการพิจารณาทางปกครอง
โดยเฉพาะในส่วนของการออกคำสั่งทางปกครอง
หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้อย่างถูกต้องและครบถ้วนตามวิธีการปฏิบัติราชการในการออกคำสั่งนั้น
การให้สิทธิแก่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รัฐธรรมนูญฯ
พ.ศ. 2550 ได้รับรองถึงสิทธิชุมชน เช่นกัน โดยมาตรา 66 บัญญัติว่า
“บุคคลซึ่งรวมตัวกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น
หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี
ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ
และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน”
2.หลักการกฎหมาย
หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน
(Public Participation) ประชาชนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน
ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม รัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมจึงควรมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์
การมีส่วนร่วมของประชาชนมีหลายระดับ ตั้งแต่สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานของรัฐ
สิทธิในการร่วมแสดงความคิดเห็นต่อหน่วยงานราชการ
การคัดค้านโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ
ของรัฐที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน
การมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม การที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายจะเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จในการนำไปสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด
การพัฒนาอย่างยั่งยืน
หลักป้องกันความเสียหายไว้ล่วงหน้า
(Principle of Precaution) การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพไม่สามารถกระทำได้
เว้นแต่ได้ทำการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Environmental
Impact Assessment หรือ EIA) และสุขภาพของประชาชน
(Health Impact Assessment หรือ HIA)
หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย
(Polluters Pay Principle) ปกติผู้ผลิตจะจัดสรรค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีต้นทุนต่ำสุด
เพื่อสร้างผลกำไรให้แก่ตนมากที่สุด
โดยมิได้ผนวกความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคม (Social
Cost) เข้าไปในราคาสินค้าหรือบริการดังกล่าว
ทำให้ราคาสินค้าหรือบริการนั้นมิได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters Pay
Principle: PPP) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์
มาประยุกต์ใช้กับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ
ผู้ก่อให้เกิดมลพิษจะต้องรับผิดชอบต่อผลเสียหายที่เกิดขึ้น
หลักความยุติธรรมระหว่างคนต่างรุ่น
(Intergenerational Equity) หลักความยุติธรรมระหว่างรุ่นคน
หรือหลักการคำนึงถึงความเสมอภาคของคนรุ่นเดียวกันและชนรุ่นหลัง
เป็นแนวความคิดเกี่ยวกับการรักษาคุ้มครองและการปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นปัจจุบัน
ให้คงอยู่ไปถึงคนรุ่นอนาคต
ซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable
Development)
หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
(Sustainable Development) เป้าหมายสำคัญของหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
คือ
รัฐจำต้องวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าการพัฒนาสอดคล้องกับความจำเป็นในการคุ้มครองและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
ซึ่งเป็นการพัฒนาที่มีผลระยะยาวมากกว่าการพัฒนาตัวเลขของอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว
ซึ่งหลักการกฎหมายสิ่งแวดล้อมเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งในแง่ของการมองมาตรการต่างๆของรัฐในการจัดการปัญหาในพื้นที่ว่าได้มีการตระหนักถึงหลักการเหล่านี้และนำไปปฏิบัติให้เป็นจริงหรือไม่ รวมถึงการสร้างแนวทางในการเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายและมาตรการที่ใช้แก้ปัญหาในข้อเสนอทางออกของปัญหาต่อไป
ลู่ทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาจากอุตสาหกรรม
ลู่ทางส่งเสริมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหา มีดังต่อไปนี้
1) การปรับโครงสร้างองค์กรในพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม การจัดโครงสร้างขององค์กรแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
โดยให้ความสำคัญกับปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ของประชาชนซึ่งตกเป็นคนชายขอบของการพัฒนาอยู่เสมอ
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานในพื้นที่มากกว่าการปรับโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานในระดับชาติ
โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เรื่องการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อช่วยตรวจตราและวางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
ว่าจะมีการจัดคณะอนุกรรมการในระดับจังหวัดเพื่อช่วยสอดส่องดูแลปัญหาในระดับพื้นที่เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจขององค์กรในส่วนกลาง
2) การบูรณาการอำนาจหน้าที่องค์กรแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ทำงานได้เบ็ดเสร็จ กฎหมายที่ใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีหลายฉบับ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบูรณาการโครงสร้างอำนาจรัฐให้เป็นหนึ่งเดียว
(one-stop service) ในการแก้ไขปัญหาแต่ละประเด็นเพื่อลดขั้นตอนการตัดสินใจหรือเดินเรื่อง
เพื่อให้มีการแก้ปัญหาและเยียวยาสิทธิให้กับประชาชนได้สะดวก
รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น
การสร้างเอกภาพในการกำหนดอัตราการปล่อยมลพิษในพื้นที่หนึ่งๆ
โดยนำเรื่องมาตรฐานการปล่อยมลพิษรวม (Carrying) มาใช้ อาจต้องคำนึงถึงการบูรณาการศาลสิ่งแวดล้อม
หรือองค์กรระงับข้อพิพาทในพื้นที่ด้วยด้วย
3) การส่งเสริมประชาชนให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ (โดยเฉพาะเขตนิคมอุตสาหกรรม) อาศัยอำนาจของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ ส่วนอีกวิธีเป็นการอาศัยวิธีพิจารณาคดีของ
ศาลปกครอง
เนื่องจากศาลปกครองใช้ระบบไต่สวน
ดังนั้นศาลจึงมีบทบาทในกระบวนพิจารณาคดีสูง
และสามารถเข้าแทรกแซงในกระบวนการแสวงหาพยานหลักฐานได้ ดังนั้นเราอาจใช้ประโยชน์จากบทบาทของศาลในระบบนี้ให้เป็นคุณต่อการเข้าถึงข้อมูลพยาน
หลักฐานที่อยู่ในการครอบงำของรัฐ
4) การส่งเสริมประชาชนให้เข้าถึงพยานหลักฐานที่อยู่ในครอบครองของเอกชน สิ่งที่ต้องทำคือการเก็บหลักฐานอย่างต่อเนื่องและชัดเจนเพื่อนำไปใช้เป็นพยานหลักฐาน ซึ่งการเก็บพยานหลักฐานเพื่อเรียกร้องสิทธิมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้
[iv] จดบันทึกเวลาสถานที่ซึ่งพบปัญหา ทำให้พยานหลักฐานเกี่ยวกับเวลาสถานที่หนักแน่นขึ้นได้
ด้วยการแจ้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นการปล่อยออกจากโรงงานก็ถ่ายให้เห็นว่าออกมาจากโรงงานใด เก็บตัวอย่างน้ำเสีย
ขยะ หรืออากาศพิษ อาจทำให้มีน้ำหนักมากขึ้นด้วยการเรียกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจเก็บตัวอย่างไป
การบาดเจ็บล้มป่วยควรจะเก็บหลักฐานการรักษาพยาบาลไว้อย่างละเอียด ถ้าเป็นไปได้ควรจดบันทึกพร้อมเก็บบิลค่าใช้จ่าย
และถ่ายสำเนาการวินิจฉัยของแพทย์ ใบรับรองแพทย์ ถ้าเป็นไปได้ควรไปพบแพทย์ชีวอนามัย หากมีพยานหลักฐานจากภายในสถานประกอบการให้เก็บรักษาไว้อย่างดี แจ้งหน่วยงานของภาครัฐให้แก้ไขปัญหาต้องมีการเก็บสำนวนคำร้อง
และติดตามว่าหน่วยงานเพิกเฉย ละเลย หรือปฏิบัติงานล่าช้าหรือไม่ ถ้าใช่อาจต้องมีการร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน
หรือฟ้องร้องไปยังศาลปกครองได้ ร้องเรียนไปยัง
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้เข้ามาตรวจดูการละเมิดสิทธิของผู้ประกอบการได้
และฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายไปยังศาลยุติธรรมได้
5) การปรับระบบการฟ้องร้องคดีในชั้นศาลเพื่อการพิสูจน์ความผิดและความเสียหาย การพิสูจน์ความผิดและความเสียหายในคดีสิ่งแวดล้อมโดยรับเอาแนวคิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่มาใช้
อาทิ การรับเอาแนวคิดเรื่องความเสียหายของผู้ได้รับสารพาหะแต่อาการยังไม่ปรากฏมาปรับใช้ พัฒนาการกำหนดความเสียหายในเชิงลงโทษให้เข้าสู่ระบบกฎหมายของไทย ควรมีการสร้างบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายในการทำงาน[v] การระงับข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมอาจมีข้อพิจารณาปรับปรุงกฎหมายให้มีกระบวนการหรือองค์กรระงับข้อพิพาทในพื้นที่ การนำระบบกองทุนสิ่งแวดล้อมเข้ามาสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิของประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
6) การนำระบบฟ้องคดีแบบกลุ่มมาใช้ (Class Action) การนำระบบฟ้องคดีแบบกลุ่มมาใช้กับข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องยอมรับ
“หลักการดำเนินคดีโดยผู้แทนคดี”
เสียก่อน
เพื่อเปิดโอกาสให้แต่งตั้งผู้อื่นขึ้นมาดำเนินคดีแทนตัวผู้เสียหายได้
เมื่อนั้นจึงจะสามารถแต่งตั้งบุคคลอื่นขึ้นเป็นคู่ความผู้ดำเนินคดีแทนกลุ่มได้[vi]
ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจต้องอาศัยบุคคลภายนอกผู้มีประสบการณ์หรือมีความเข้มแข็งเข้ามาช่วยในลักษณะของ
การฟ้องคดีของพลเมืองผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อม (Citizen Suit)
7) การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์จัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม การนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
โดยแนวคิดต่างๆ ที่ควรนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนากฎหมายสิ่งแวดล้อมได้แก่[vii] ค่าธรรมเนียมการอนุญาต
(Administrative Fees) ค่าธรรมเนียมการใช้ (User
Fees, User Charges) ค่าปรับ
ค่าภาษีมลพิษ (Pollution
Tax, Pollution Fees) ใบอนุญาตปล่อยมลพิษ (Pollution
Permits) ค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ (Product Surcharge) อัตราภาษีที่แตกต่าง (Tax
Differentiation) ระบบมัดจำคืนเงิน (deposit-refund system) การวางเงินประกันความเสียหาย (Performance Bond) การให้เงินอุดหนุน (Subsidy)
8) การปรับระบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การปรับระบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น
โดยเข้าถึงข้อมูล แสดงความคิดเห็นในทุกระดับ และตรวจสอบการทำตามแผน[viii] อันจะเป็นประโยชน์กับโครงการหลายประการ อาทิ
เกิดทางเลือกใหม่และพิจารณาอย่างรอบคอบ ลดค่าใช้จ่ายและการสูญเสียเวลา
สร้างฉันทามติทางการเมืองร่วมกันและเกิดความชอบธรรม
ลดความขัดแย้งเมื่อถึงขั้นตอนปฏิบัติ
9) มาตรการคุ้มครองเยียวยาในพื้นที่ประสบปัญหา การกำหนดให้มีแนวนโยบายการโยกย้ายถิ่นฐานและมีการจ่ายค่าชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่
หากการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางสังคมบ่งชี้ว่าโครงการจะสร้างผลกระทบแก่ประชาชนอย่างรุนแรงกว้างขวางจนต้องมีการอพยพถิ่นที่อยู่ของประชากร
หรือมีการเวนคืนและการจ่ายค่าเสียหาย
ก็จำเป็นต้องทำรายละเอียดให้เหมาะสมกับผลกระทบจริงที่เกิดขึ้น
รวมถึงกำหนดแผนการตั้งถิ่นฐานใหม่และกำหนดค่าชดเชย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงพิเศษ
10) การจัดระบบระงับข้อพิพาทในพื้นที่พิเศษ (นิคมอุตสาหกรรม) การจัดตั้งระบบระงับข้อพิพาทในพื้นโดยยึดหลักการ
3 ประการ คือ การเปิดโอกาสให้เอกชนผู้เสียหายทั้งหลายสามารถเข้าร่วมดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ การเปิดโอกาสให้องค์พัฒนาเอกชน
หรือผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อมริเริ่มนำคดีเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทได้ การใช้กระบวนวิธีพิจารณาแบบไต่สวนที่ทำให้มีการเข้าถึงพยานหลักฐานได้อย่างกว้างขวางโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายขององค์กรระงับข้อพิพาท
11) การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาแบบมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย การนำเอาระบบการริเริ่มคดีโดยผู้ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมฟ้องแทนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
(Citizen Suit) มาปรับใช้ในประเทศไทย
เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิได้มีผลเสียหายจากปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยตรงสามารถนำเรื่องดังกล่าวขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้[ix] ก็จะช่วยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและประชาสังคมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อน
12) การส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาชน
การเปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาชนเข้าถึงการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้นมีอุปสรรคน้อยลงการช่วยเหลือในด้านความรู้และคำปรึกษาด้านกฎหมาย
โดยรูปแบบที่เป็นไปได้ คือ
การจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย(ไม่จำกัดเฉพาะกฎหมายสิ่งแวดล้อมแต่ครอบคลุมถึงปัญหาอื่นๆด้วย)
ในพื้นที่
13) องค์กรของรัฐไม่ว่าฝ่ายนิติบัญญัติ
ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการจะต้องมีความเห็นร่วมกันว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ
การดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ต้องมีลักษณะพิเศษ ฝ่ายบริหารจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้นในการดำเนินการเรื่องปัญหามลพิษว่าจะมีทิศทางอย่างไรเพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสามารถที่จะบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องตรากฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการจัดการมลพิษและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น
14) โครงการใดที่อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม
ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องบัญญัติกฎหมายกำหนดกระบวนการที่เข้มข้นมากกว่าโครงการทั่วไป รวมถึงนโยบายของฝ่ายบริหารที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายและต้องให้ความคุ้มครองกระบวนการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทางปกครองที่ผิดพลาดโดยเฉพาะการดำเนินการของพนักงานควบคุมมลพิษ
15) โครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งก่อนการอนุญาตให้ดำเนินโครงการและภายหลังจากการดำเนินโครงการไปแล้ว กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาอนุมัติอนุญาตจะต้องมีการให้ข้อมูลของโครงการอย่างรอบด้าน
และเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในการคัดค้านโครงการ เช่น การแสดงความคิดเห็นในเวทีแสดงความคิดเห็น
การแสดงความเห็นผ่านทางอินเทอร์เน็ต
รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้เจ้าของโครงการได้ชี้แจงข้อมูลเหล่านั้นด้วยตามหลักการฟังความสองฝ่าย
(Audi alteram partem) หลังจากการรับฟังความคิดเห็นแล้วภาครัฐต้องจัดทำรายงานความคิดเห็นของประชาชนทั้งข้อสรุป
ข้อโต้แย้งต่างๆและเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบรวมทั้งต้องสร้างหลักประกันว่ารายงานความคิดเห็นของประชาชนจะได้นำไปใช้ประกอบการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐในการพิจารณาออกคำสั่งอนุมัติอนุญาตว่าได้อาศัยรายงานแสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณาอนุมัติอนุญาตและถ้าเจ้าหน้าที่จะอนุมัติอนุญาตก็ต้องมีเหตุผลที่รับฟังได้ในการหักล้างกับรายงานความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวและต้องแสดงรายงานการพิจารณาอนุญาตอนุมัติให้กับประชาชนได้รับทราบว่าเจ้าหน้าที่มีเหตุผลเช่นใด
(Duty to give reason) หลังจากที่ได้มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและเจ้าหน้าที่ได้ออกคำสั่งอนุญาตอนุมัติให้ดำเนินโครงการไปแล้วจะต้องมีการติดตามผลการดำเนินการของผู้ประกอบการว่าการดำเนินโครงการได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านมลพิษขึ้นหรือไม่ มาตรการตรวจสอบโครงการหรือโรงงานจะต้องมีการกำหนดให้มีการตรวจสอบโครงการทุกโครงการเมื่อดำเนินการมาได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งนอกเหนือไปจากมาตรการเป็นเรื่องๆ
เช่น การบังคับในกรณีที่เกิดมลพิษขึ้นเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปควบคุมดูแล การดำเนินการตรวจสอบภายหลังจากการดำเนินโครงการไปแล้วจะต้องตั้งองค์กรอิสระขึ้นเพื่อทำการตรวจสอบซึ่งต้องประกอบจากภาคประชาชน
ภาครัฐและภาคผู้ประกอบการร่วมกันทั้งสามฝ่ายเข้ามาตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
16) การจัดการความขัดแย้งระหว่างข้อมูลข่าวสารของทางราชการและผู้ประกอบการกับประชาชน จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด
การจะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องมีการเพิ่มเติมและแก้ไขกฎหมายหลายๆฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการที่พบจากการลงพื้นที่ศึกษา
เช่น การบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540
การเพิ่มเติมหลักการมีส่วนร่วมในลักษณะต่างๆในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
พ.ศ. 2535 รวมถึงการจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นเพื่อแก้ไขข้อพิพาทต่างๆที่เกิดขึ้น
17) ปรับมาตรการตามกฎหมายไทยโดยอิงหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายอย่างได้สัดส่วนกับความเสียหาย การกำหนดมาตรฐานมลพิษในแต่ละเรื่องให้เป็นมาตรฐานเดียวกันจึงควรมีการประสานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเพิ่มอำนาจให้แก่เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษในการควบคุมมลพิษให้มีประสิทธิภาพโดยการมีบทลงโทษในกรณีของการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน
18) ปรับมาตรการตามกฎหมายไทยโดยอิงหลักการป้องกันความเสียหายล่วงหน้าไว้ในกระบวนการตัดสินใจทุกระดับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น